วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวกับเรือกอและ

3.พิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวกับเรือกอและ

ชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานีมีพิธีกรรมและความเชื่อของชาวเรือว่าในการต่อเรือกอและ ช่างจะหาฤกษ์ดีในการวางไม้ชิ้นแรก โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้การต่อเรือกอและลำนั้นๆ เสร็จเร็ว เป็นที่ถูกใจผู้มาสั่งต่อทันทีที่เห็นเรือ เรือทุกลำที่ต่อขึ้นจะไม่มีลำใดรั่วหรือใช้ไม่ได้ มีบางลำที่เรือทรงตัวอย่างไม่สมดุล แต่ผู้ซื้อก็ไม่เคยนำกลับมาให้ช่างต่อเรือแก้ไขซ่อมแซม ผู้ซื้อจะหาวิธีถ่วงเรือของตนจนสมดุลตามต้องการ  ช่างเรือกอและบางคนถือโชคลางมาก เมื่อต่อเรือเสร็จเรียบร้อยจะทำพิธีผูกเงื่อน ละป๊ะโดยการนำใบมะพร้าวมาผูกทำเป็นเงื่อนคล้ายๆ ที่ลูกเสือ
ผูกเชือกแล้วดึงให้หลุดออกจากกัน เชื่อว่าถ้าถึงเงื่อนหลุดง่ายๆ อุปสรรคในการใช้เรือกอแลจะหมดหรือลดน้อยลง ปัจจุบันเมื่อมีการนำเครื่องยนต์มาติดท้ายเรือ พิธีผูกเงื่อนละป๊ะก็หมดไป อาจเป็นเพราะชาวเรือไม่จำเป็นต้องพึ่งลมฟ้าอากาศอย่างแต่ก่อน ใช้เครื่องยนต์ติดท้ายก็สามารถนำเรือออกนอกฝั่งและเข้าฝั่งได้โดยง่ายอยู่แล้ว  ฝ่ายผู้ซื้อนั้นเมื่อเรือกอและที่สั่งต่อเสร็จเรียบร้อยก็จะมารับเรือขึ้นรถบรรทุกไปในสมัยก่อนต้องนำเรือล่องลงน้ำกลับไปยังหมู่บ้านของตน เมื่อถึงที่หมายก่อนนำเรือไปใช้ประโยชน์หรือประกอบอาชีพ เขานิยมทำพิธีเซ่นเสากระโดงเรือหรือภาษายาวีเรียกอากงหมายถึง สำคัญ ยิ่งใหญ่ ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญของเรือ อยู่กลางลำเรือใช้ติดตั้งใบเรือ ผู้ที่เป็นนายท้ายเรือจะต้องไปเซ่นไหว้ที่เสากระโดงนี้ และท่องบ่นคาถาทุกครั้งก่อนออกเรือเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้เกิดความอบอุ่นใจ การเซ่นไหว้ครั้งแรกต้องมีเครื่องเซ่นไหว้ คือ ข้าวเหนียวเหลืองหน้าไก่แบบแกงข้น ข้าวเหนียวเหลืองปลาเค็ม และข้าวตอกเป็นสิ่งสำคัญ ห้ามนำสุราเข้าไปโดยเด็ดขาด (เคร่งครัดตามหลักศาสนาอิสลาม) คาถาที่ท่องนั้นกล่าวเป็นภาษายาวีแบบเดียวกับที่ใช้ในการละหมาด ในการออกเรือแต่ละครั้งอาจมีการนำพวกมาลัยดอกไม้ ผ้าแดง หรือผ้าขาวมาห้อยหรือผูกไว้ตรงหัวเรือเพื่อความเป็นสิริมงคล ชาวเรือกอและไม่ห้ามผู้หญิงขึ้นเรือแต่อย่างใด หากไม่อนุญาตให้ผู้ที่จะลงไปในเรือใส่รองเท้า ทุกคนเมื่ออยู่ในเรือแล้วจะต้องอยู่ในสภาพเปลือยเท้าเปล่าเสมอ

มีธรรมเนียมที่ถือกันมาของชาวไทยมุสลิมว่า เมื่อลงเรือแล้วให้เอ่ยชื่อสัตว์ได้เฉพาะสัตว์น้ำเท่านั้น เพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าถิ่น ห้ามเอ่ยชื่อสัตว์บก อาทิ เสือ สิงห์ กระทิง แรด เพราะถือว่าเป็นการลบหลู่เจ้าถิ่น ซึ่งธรรมเนียมนี้นับว่าตรงข้ามกันชาวไทยพุทธที่เวลาเข้าป่าแล้วให้เอ่ยชื่อสัตว์น้ำ หรือลงน้ำก็ให้เอ่ยชื่อสัตว์บกจึงจะดี เพื่อเป็นการบำรุงขวัญ ตัวอย่างเช่น เมื่อลงเรือแล้วก็จะไม่พร่ำพูดถึงปลาฉลาม หรือจระเข้ให้ขวัญหนีดีฝ่อเป็นการดีกว่าแน่

ในอดีตที่ชายทะเลอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานีมีประเพณีเกี่ยวกับเรือกอและคือประเพณีฉลองชายหาด ซึ่งเป็นงานพิธีของชาวประมงพื้นเมือง เรียกว่า ปูยอ ปาตา” (ปูยอ แปลว่า บูชา, ปาตา แปลว่าหาดทราย) เดิมกำหนด 3 ปีทำครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้าแห่งทะเล ชาวบ้านจะนำเรือกอและของตนมาจอดเกยชายหาดในบริเวณงานทั้งหมด และประดับประดาเรือของตนด้วยธงทิวต่างๆ เพื่อมารับเอาน้ำมนต์อันศักดิสิทธิ์จากหมอผู้ประกอบพิธี ในงานนี้มีการฆ่าควายเผือกเพื่อนำเนื้อบางส่วนสังเวยเทพเจ้า และส่วนที่เหลือแจกจ่ายแก่ชาวเรือและผู้ที่มาร่วมประกอบพิธี เชื่อว่าพิธีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากพวกชาวน้ำ ซึ่งมีความเชื่อว่าคลื่นลมเกิดจากการกระทำของเทพเจ้าแห่งทะเล อย่างไรก็ตามปัจจุบันพิธีนี้ค่อยๆ สูญหายไปเพราะความเจริญในยุคโลกาภิวัตน์เข้ามาแทนที่



อ้างอิง http://culture.pn.psu.ac.th/culture/index.php?option=com_content&view=article&id[20พฤศจิกายน2556]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น